Keynote: Generative AI in Medical Imaging Just for Fun or the Game Changer?
Event: SCBX Unlocking AI EP4, Computer Vision: How AI See Things Like We Do
Collaboration: SCBX และ Insiderly.ai
Venue: SCBX NextTech, สยามพารากอน ชั้น 4
Speaker: นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ , CEO & Co-Founder, PreceptorAI
ทุกวันนี้เราสามารถนำ Generative AI มาช่วยมนุษย์ทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะงานเอกสาร งานบัญชี งานแปลภาษา ไปจนถึงงานสร้างสรรค์ สร้างรูปภาพ ไม่เพียงแค่นั้น AI ในปัจจุบันยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย โดยมีแพทย์หลายคนมุ่งมั่นกับการนำมาใช้รักษาคนไข้ให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับแวดวงสุขภาพของประเทศ
หนึ่งในนั้นก็คือ นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ผู้ยังเป็น CEO และ Co-Founder ของบริษัทเทคโนโลยี PreceptorAI โดยในงานเสวนา SCBX UNLOCKING AI: EP4 Computer Vision: How AI See Things Like We Do ได้มาบรรยายหัวข้อ Generative AI in Medical Imaging Just for Fun or the Game Changer? เพื่อวิเคราะห์ว่า นอกจาก AI จะสร้างภาพสนุกๆ ได้แล้ว มันมีประโยชน์และช่วยเปลี่ยนโลกจริงๆ ไม่ใช่แค่ของเล่นให้คนรู้สึกสนุกชั่วคราว
นพ.ปิยะฤทธิ์ ย้อนความว่า ที่ผ่านมาเวลาแพทย์จะวินิจฉัยโรคเฉพาะด้าน เช่น วิเคราะห์เม็ดเลือด จะต้องเอาแพทย์ที่เทรนด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ด้วยจำนวนแพทย์ที่เทรนมานั้นไม่เยอะมาก หากมีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะดูแลไม่ทันการณ์ จึงพยายามค้นหาว่ามีวิธีไหนบ้างที่ช่วยคนไข้ได้เร็วกว่านั้น นำมาสู่นวัตกรรมดูแลคนไข้ยุคใหม่ที่ไม่เพียงช่วยวิเคราะห์เม็ดเลือดได้ แต่ยังวิเคราะห์พยาธิ และอื่นๆ อีกมากมายได้อีกด้วย
นพ.ปิยะฤทธิ์ เล่าว่ามี Generative AI ที่ดังมากโปรแกรมหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2014 โดย Google คิดค้นภาพที่พัฒนาขึ้นใหม่ในระบบ GAN หรือ Generative Adversarial Network ซึ่งทำงานภายใต้หลักการสร้างภาพแบบ โจร vs ตำรวจ
กล่าวคือ เป็นเทคโนโลยีสร้างภาพให้มีความคมชัดขึ้นที่เหมือนการทำธนบัตรปลอมให้เหมือนจริงที่สุดนั่นเอง โดยโจรจะไม่แค่ปลอมธนบัตรให้เหมือนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีโมเดลที่ทำตัวเป็นตำรวจ คอยตรวจจับว่าธนบัตรที่ออกมาเป็นของจริงหรือของปลอม ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องพัฒนาตัวเองเสมอ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายตรวจจับได้
และนั่นเป็นหลักการที่ช่วยให้เกิดการสร้างภาพจาก AI ที่เหมือนจริงที่สุด และนำไปใช้ในการสร้างภาพ CT Scan ด้วย
ทั้งนี้ การสร้างรูปด้วย AI มีหลายโมเดลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา แต่สิ่งที่ใช้แล้วได้ผลดีที่สุดก็คือระบบ GAN นี่เอง และเกิดสิ่งที่เรียกว่า Diffusion Models ที่สามารถสร้างภาพเหมือนจริงชนิดแยกไม่ออกว่าเป็นภาพจริง หรือภาพที่สร้างขึ้นมา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพเอกซเรย์ที่เจอบ่อยในทางการแพทย์ มักจะมี Noise รบกวนเยอะ หลักการดังกล่าวจะช่วยสร้างรูปใหม่ที่สมบูรณ์แบบขึ้นมาด้วยเทคนิค “โรยทราย” โดยให้ AI เรียนรู้จากภาพจริงที่ค่อยๆ โรยทรายลงไปบนภาพจนมองไม่เห็นชัดเจน
จากนั้นก็เรียนรู้ด้วยการ “ดูดทรายออก” ทำให้รูปเอกซเรย์ที่มองเห็นไม่ชัด ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น สมบูรณ์แบบขึ้น กลายเป็นรูปที่เหมือนกับรูปจริงที่สุด ชนิดที่สามารถมองออกว่า ฟิล์มเอกซเรย์นั้นมองเห็นก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ มีน้ำท่วมปอดหรือไม่ เป็นต้น และมันเหมือนจริงมากชนิดที่แพทย์จำนวนมากเองยังแยกไม่ออกเลยว่า ภาพที่ AI สร้างออกมา ภาพไหนเป็นภาพจริง
ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมก็คือ การช่วยให้ AI สร้างภาพเหมือนจริงออกมาได้ ก็ช่วยให้แพทย์ไม่จำเป็นต้องรอเรียนรู้จากของจริง แต่สามารถเรียนรู้ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ป่วยจริง
จริงอยู่ว่าหลายคนอาจมองว่า AI ช่วยสร้างภาพ หลายคนอาจนำมาใช้งานสนุกๆ ขำๆ แต่ในความเป็นจริงมีหลายคน หลายอาชีพเอามาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช เชื่อว่านี่คือเทคโนโลยีที่จะเป็น Game Changer ช่วยแวดวงแพทย์ และนำไปสู่ความสามารถในการเติบโตทางการแพทย์ในอนาคต ช่วยคนไข้ได้มหาศาล และเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ตามมา